Wednesday, October 14, 2009

โรคจิตต่างจากโรคประสาทอย่างไร

คือคำถามของสื่อมวลชนถามผู้อำนวยการของโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราช นครินทร์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ในโอกาสที่โรงพยาบาลจัดสัมมนาในโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ร่วมสรรค์สร้าง TO BE NUMBER ONE ณ ห้องประชุมของโรงพยาบาล

นับว่าเป็นคำถามที่สำคัญยิ่งเพราะถ้าใครต้องเดินเข้ามารักษาที่รพ.จิตเวช ต่าง ๆ ของกรมสุขภาพจิตหลายคนจะพูดว่าเป็นโรคบ้า บางคนเรียกวิกลจริตทุกคนถือเป็นการเหมารวมที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เดิน เข้ามาในโรงพยาบาลจิตเวช แท้จริงแล้วมีความต่างกันอยู่จึงขอเล่ารายละเอียดข้อมูลจากบทความสุขภาพจิต ใน 1667 ของกรมสุขภาพจิต ดังนี้

คนเป็นโรคจิตหรือคนวิกลจริต คนทั่วไปมักเรียกว่า "คนบ้า" ซึ่งจะสังเกต ได้จากการแสดงออกที่แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไปเช่น หัวเราะคนเดียว พูดคนเดียว มี หูแว่ว เห็นภาพหลอนมีพฤติกรรมแปลก ๆ เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น แก้ผ้าในที่สาธารณะ พูดจาไม่รู้เรื่อง ความคิดผิดปกติไปจากเดิม คิดว่าตนเองเป็นใหญ่ เป็นโต เป็นดารา เป็นผู้วิเศษ เหาะเหินเดินอากาศได้ บางคนมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเอง และผู้อื่นจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโรคจิตในระยะเริ่มแรกนั้นสังเกตได้ค่อนข้างยาก โดยส่วนใหญ่แล้วคน ใกล้ชิดกว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อมีอาการเป็นมากแล้ว ซึ่งอาการที่เรามักสังเกตเห็นนั้นอาจมีลักษณะดังนี้ คือ

บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และผิดปกติไปจากสังคมทั่วไป ซึ่งส่วนมากจะมีลักษณะประหลาดหรือไม่ถูกกาลเทศะ เช่น เคยเป็นคนสะอาดเรียบร้อยก็กลายเป็นคนสกปรกมอมแมม คนที่เคยสุภาพกลายเป็นคนหยาบคาย ทะลึ่งตึงตัง หรือร้องรำทำเพลงตามถนน หนทาง พูดเพ้อเจ้อไม่ได้เรื่องราว

ในด้านความคิด ผู้ป่วยโรคจิตบางคนจะคิดหรือ เห็นในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เช่น หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือคิดว่าจะมีคนทำร้ายทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่มี บางคนจะรับรู้ หรือมีสัมผัสสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูด บางรายมีภาพหลอนโดยเห็นภาพต่าง ๆ ไปเอง

ในด้านอารมณ์ ผู้ป่วยโรคจิตจะมีอารมณ์เปลี่ยน แปลงไปได้มาก เช่น แสดงอารมณ์ ไม่สอดคล้องกับความนึกคิด หรือสภาพแวดล้อม เมื่อพูดเรื่องเศร้าเช่น แม่ตายกลับแสดงอาการหัวเราะชอบใจ หรือมีอาการเหมือนทองไม่รู้ร้อน ถ้าคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคจิต และได้รับการรักษาแล้ว กลับไปบ้าน คุณสามารถสังเกตอาการที่กลับเป็นซ้ำได้ โดยมีอาการเตือนที่พบได้บ่อย ๆ เช่น รู้สึกตึงเครียด กระวนกระวาย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข เบื่ออาหาร กินได้น้อย ความจำไม่ดี ย้ำคิดย้ำทำ ไม่อยากพบปะผู้คน รู้สึกว่าถูกคนอื่นนินทาว่าร้าย ไม่สนใจสิ่งรอบ ๆ ตัว มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกไร้ค่า คิดฟุ้งซ่าน

โรคประสาทมีหลายประเภท ได้แก่ โรคประสาทวิตกกังวลทั่วไป โรคประสาท กลัวอะไรเฉพาะอย่าง โรคประสาทวิตกกังวลเกี่ยวกับเจ็บป่วยของร่างกาย โรคประสาทตื่นตกใจง่าย โรคประสาทกลัวที่โล่งแจ้ง โรคประสาท กลัวการเข้าสังคมและโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ และการที่บุคคลจะป่วยเป็นโรคประสาทชนิดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของบุคลิกภาพของผู้นั้นว่ามีลักษณะเช่นไร เช่น โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ มักพบในบุคคลที่มีบุคลิกภาพเจ้าระเบียบหรือสมบูรณ์แบบ

อาการไม่รุนแรงเท่าโรคจิต อาการเด่น ๆ ของโรคประสาท จะมีความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลเป็นอาการหลัก โดยความกลัวจะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งเร้าที่เห็นได้ชัด เช่น กลัวเสือ กลัวความมืด กลัวการอยู่ในที่แคบ ๆ เป็นต้น ส่วนความวิตกกังวลคือ ความกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เช่น กังวลเกี่ยวกับผลสอบเอ็นทรานซ์ ทั้งที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา เมื่อความกลัวหรือความวิตกกังวลเกิดขึ้น จะมีผลต่อพฤติกรรมของคนเรา ทำให้อาการทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ เช่น หัวใจเต้นแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดหรือเวียนศีรษะ และบางคนอาจเกิดปฏิกิริยาต่อความกลัวในขั้นรุนแรง จะมีอาการตื่นกลัวและตกใจอย่างมาก ถึงขนาดจะเป็นลมหมดสติ และถ้าความกลัวหรือความกังวลเกิดอยู่นาน ๆ บุคคลนั้นจะรู้สึกเหนื่อยเชื่องช้าลง ซึมเศร้า กินอะไรไม่ลง นอนไม่หลับ หรือฝันร้ายบ่อย ๆ และจะคอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คล้าย ๆ กันนั้นอยู่บ่อย ๆ จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตได้

กล่าวโดยสรุป ผู้ป่วยโรคประสาทจะมีอาการดังนี้คือ
1. วิตกกังวล กลัว ย้ำคิดย้ำทำ
2. อาการดังกล่าวมีมาก จนกระทบกระเทือนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่นการกิตอยู่หลับนอน การทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
3. รู้ตัวเองดีว่ามีอาการผิดปกติ
4. รู้สึกทรมานกับอาการที่เป็นอยู่ และต้องการการรักษาถ้าคุณมีอาการดังกล่าวมาทั้ง 4 ข้อ ขอให้รีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้หวังว่าท่านคงเข้าใจถึงความแตกต่างของโรค จิตและ โรคประสาทหากเจ็บป่วยด้วยโรคจิตหรือโรคประสาทก็มีหลักในการดูแลรักษาขึ้น อยู่กับแพทย์จะวางแผนการดูแลรักษาอย่างไรคงต้องมีการพูดคุยกันระหว่าง แพทย์ ผู้ป่วย และญาติต่อไป.


ที่มา - อภิญญา ปัญญาพร รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์.

  ©Template Blogger Green by Dicas Blogger.

TOPO